ไทยเผชิญวิกฤติโลกร้อน ผนึกกำลังปลูกป่าชายเลน เดินหน้าดัน 'บลูคาร์บอน'
net-zero
36

ไทยเผชิญวิกฤติโลกร้อน ผนึกกำลังปลูกป่าชายเลน เดินหน้าดัน 'บลูคาร์บอน'

    'อลงกรณ์' เห็นตรง 'ดร.ธรณ์' ไทยเผชิญวิกฤติโลกร้อนทะเลเดือด ชี้โลกรวน คือวิกฤตการณ์ เร่งผนึกทุกภาคีเดินหน้าโครงการ'บลูคาร์บอน' หวังฟื้นฟูป่าชายเลนลดคาร์บอน 110 ล้านตัน สู่เป้าหมาย Net Zero

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ภาวะโลกร้อน ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เตือนว่า หากโลกไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส ภายในปี 2030 ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและสังคมมนุษย์

 

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนอย่างหนักเช่นกัน โดยรายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้ง น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุ ซึ่งคาดว่าจะสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติรุนแรงที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงต้องเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท โพสต์บทความวันนี้เกี่ยวกับปัญหาวิกฤตโลกร้อนกับผลกระทบต่อประเทศไทยและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงินในหัวข้อ "โลกรวน คือวิกฤตแห่งศตวรรษที่21 :ก้าวต่อไปของประเทศไทยในการลดโลกร้อนทะเลเดือด"

 

โดยมีข้อความว่า อ่านเรื่อง โลกเดือด ทะเลเดือด ของดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น้องที่เคยร่วมงานขบวนการปฏิรูปประเทศก็เห็นตรงกัน 100% และขอร่วมแชร์ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme) ที่ทำให้เกิดภาวะ "โลกรวน" ในหัวข้อ "โลกรวน คือวิกฤติการณ์แห่งศตวรรษที่21 :ก้าวต่อไปของประเทศไทยในการลดโลกร้อนทะเลเดือด"

 

ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อนทะเลเดือดเป็นวิกฤตแห่งศตวรรษที่21 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกทำให้มีความพยายามที่จะลดก๊าซเรือนกระจกด้วยมาตรการต่างๆภายใต้กรอบการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติหรือ (COP)

 

เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตัวอย่างเช่นสหภาพยุโรปเริ่มใช้ระบบภาษีคาร์บอนในรูปมาตรการCBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

 

ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิกว่า 240 ล้านตันต่อปี และเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับที่ 19 ของโลก โดยในปี 2565 ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอีก 1.5%

 

เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) นายอลงกรณ์ระบุว่า ภาคพลังงานจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ปีละ 86 ล้านตันคาร์บอน และป่าไม้ต้องดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 120 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่ง

 

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงเร่งผลักดันโครงการคาร์บอนสีน้ำเงิน (Blue Carbon) โดยการปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญ โดยป่าชายเลนของประเทศไทยมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนได้ถึง 110 ล้านตันในระยะเวลา 10 ปี

 

ไทยเผชิญวิกฤติโลกร้อน ผนึกกำลังปลูกป่าชายเลน เดินหน้าดัน \'บลูคาร์บอน\'

 

ข้อมูลจากดร.สนใจ หะวานนท์ ผู้เชี่ยวชาญป่าชายเลนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า การสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าชายเลนโดยกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ต้องใช้คาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยออกซิเจนออกมา

 

พบว่าป่าชายเลนของประเทศไทยสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหนือพื้นดินได้ 27.1 ตันต่อเฮกตาร์ (6.25 ไร่) และสะสมในดิน 16.9 ตันต่อเฮกตาร์ รวมแล้ว 44.0 ตันต่อเฮกตาร์ ประมาณการณ์ได้ว่าป่าชายเลนของประเทศไทยประมาณ 1.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 0.24 ล้านเฮกแตร์ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 11 ล้านตันต่อปี

 

เพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ร่วมมือกับมูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท และภาคีเครือข่ายต่างๆ และ "เครือข่ายพันธมิตรโกงกางประเทศไทย" (Thailand Mangrove Alliance) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน รวม 32 องค์กร เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน และหารือร่วมกันเกี่ยวกับการจัดสัมนาเรื่อง "ป่าโกงกาง สู่เป้าหมายซีโร่คาร์บอน (Zero Carbon) ของประเทศไทย" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ลดโลกร้อนในเร็วๆ นี้

 

ไทยเผชิญวิกฤติโลกร้อน ผนึกกำลังปลูกป่าชายเลน เดินหน้าดัน \'บลูคาร์บอน\'

 

โดยต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MoU) กับ32 องค์กรภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทย (Thailand Mangrove Alliance) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตามหลักการ 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ ในการปกป้อง ฟื้นฟู และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชายเลน

 

ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ การจัดการป่าชายเลนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) และการประกอบอาชีพที่ยั่งยืนของชุมชนป่าชายเลน ในพื้นที่เป้าหมาย 24 จังหวัดชายทะเลของประเทศไทยซึ่งจะมีการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทย (Thailand Mangrove Alliance) ในงานวันป่าชายเลนแห่งชาติ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องประชุมช้างเผือก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของไทยในการแก้ปัญหาโลกร้อน

 

นายอลงกรณ์ ระบุว่า มูลนิธิฯ จะสนับสนุนการพัฒนาและการอนุรักษ์ป่าชายเลน รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนและคนรุ่นต่อไป เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรป่าชายเลน นอกจากนี้ ยังจะดำเนินการปลูกป่าชายเลนเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โครงการคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องบลูคาร์บอน (Blue Carbon) และการฟื้นฟูป่าชายเลน

 

การดำเนินโครงการบลูคาร์บอนนี้นับเป็นความพยายามอย่างจริงจังของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยการปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลนจะช่วยเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับวิกฤติโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

 

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของโครงการนี้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชน ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว และรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป

 

ไทยเผชิญวิกฤติโลกร้อน ผนึกกำลังปลูกป่าชายเลน เดินหน้าดัน \'บลูคาร์บอน\' ไทยเผชิญวิกฤติโลกร้อน ผนึกกำลังปลูกป่าชายเลน เดินหน้าดัน \'บลูคาร์บอน\'

ข่าวล่าสุด

นักเคลื่อนไหวฟ้องรัฐบาล 'รัสเซีย' เหตุนโยบายรับมือโลกร้อน 'อ่อนแอ' เกินไป

นักเคลื่อนไหวฟ้องรัฐบาล 'รัสเซีย' เหตุนโยบายรับมือโลกร้อน 'อ่อนแอ' เกินไป

Read More...